เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [13.เตวิชชสูตร]
ความขวนขวายของวาเสฏฐมาณพ

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ มีอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
สักคนหนึ่งไหมที่เป็นอาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนซึ่งเคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็น
พยานได้”
เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”
[526] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์
ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท ได้แก่ ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษี
เวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษีอังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ
และฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทในเวลานี้
ขับตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่าที่ท่านขับไว้กล่อมไว้ รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้อง
ตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านบอกไว้ แม้ฤๅษีเหล่านั้นมีไหมที่กล่าว
อย่างนี้ว่า พวกเรารู้ พวกเราเห็นพระพรหมนั้นว่าอยู่ที่ใด โดยที่ใด หรืออยู่ภพใด”
เขาทูลตอบว่า “ไม่มีเลย ท่านพระโคดม”
[527] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ ที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า บรรดา
พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทไม่มีเลยแม้สักคนเดียวที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยาน
ได้ แม้อาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทก็ไม่มีเลยแม้สักคนเดียวที่เคยเห็นพรหม
พอจะอ้างเป็นพยานได้ แม้ปาจารย์ของอาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทก็ไม่มีเลย
แม้สักคนเดียวที่เคยเห็นพรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ อาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพทที่เป็นอาจารย์สืบทอดกันมาเจ็ดชั่วคนก็ไม่มีเลยแม้สักคนเดียวที่เคยเห็น
พรหมพอจะอ้างเป็นพยานได้ พวกฤๅษีผู้เป็นบูรพาจารย์ของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพท
ได้แก่ฤๅษีอัฏฐกะ ฤๅษีวามกะ ฤๅษีวามเทวะ ฤๅษีเวสสามิตร ฤๅษียมตัคคิ ฤๅษี
อังคีรส ฤๅษีภารัทวาชะ ฤๅษีวาเสฏฐะ ฤๅษีกัสสปะ และฤๅษีภคุ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนตร์
บอกมนตร์ที่พวกพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทในเวลานี้ขับตามกล่อมตามซึ่งบทมนตร์เก่า
ที่ท่านขับไว้กล่อมไว้รวบรวมไว้ กล่าวได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกได้ถูกต้อง
ตามที่ท่านบอกไว้ แม้ฤๅษีเหล่านั้นก็ไม่มีเลยที่กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเรารู้ พวกเรา
เห็นพระพรหมนั้นว่าอยู่ที่ใด โดยที่ใด หรืออยู่ภพใด’ พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้น
กล่าวอย่างนี้ว่า ‘พวกเราไม่รู้ พวกเราไม่เห็น แต่พวกเราแสดงทางเพื่อความเป็นผู้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :233 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [13.เตวิชชสูตร]
ความขวนขวายของวาเสฏฐมาณพ

อยู่ร่วมกับพระพรหมว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก
นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพระพรหมได้’
[528] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอย1 มิใช่หรือ”
เขาทูลตอบว่า “ท่านพระโคดม เมื่อเป็นเช่นนี้ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้
ไตรเพทถือว่าเลื่อนลอยแน่นอน”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถูกละ วาเสฏฐะ การที่พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทซึ่งไม่รู้
ไม่เห็นพรหม แต่กลับแสดงทางเพื่อความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมว่า ‘ทางนี้เท่านั้น
เป็นทางตรง เป็นทางเดินตรงไป เป็นทางนำออก นำผู้เดินตามไปสู่ความเป็นผู้อยู่
ร่วมกับพระพรหมได้’ นั่นไม่ใช่ฐานะที่เป็นไปได้”
[529] วาเสฏฐะ ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหมือนคนตาบอดเข้าแถว
เกาะหลังกัน คนอยู่หัวแถว คนอยู่กลางแถว และคนอยู่ปลายแถวต่างก็มองไม่เห็น
ภาษิตของพราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทเหล่านั้นช่างน่าขบขัน ต่ำต้อย เหลวไหล ไร้สาระ
[530] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทมองเห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นลงเหมือนคนเหล่าอื่น
แต่ก็ยังอ้อนวอนชื่นชมประนมมือนอบน้อมเดินเวียนอยู่”
เขาทูลตอบว่า “เป็นเช่นนั้น ท่านพระโคดม พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทมองเห็นดวง
จันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นลงเหมือนคนเหล่าอื่น แต่ก็ยังอ้อนวอนชื่นชมประนมมือ
นอบน้อมเดินเวียนอยู่”
[531] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วาเสฏฐะ เธอเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร
พราหมณ์ผู้ได้ไตรเพทมองเห็นดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ขึ้นลงเหมือนคนเหล่าอื่น
แต่ก็ยังอ้อนวอนชื่นชมประนมมือนอบน้อมเดินเวียนอยู่ พราหมณ์เหล่านั้นจะ
สามารถแสดงทางไปอยู่ร่วมกับดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ว่า ทางนี้เท่านั้นเป็นทาง

เชิงอรรถ :
1 เลื่อนลอย (อปฺปาฏิหีรกตํ) หมายถึง เป็นคำที่ไม่มีปาฏิหาริย์ ขาดเหตุผลที่จะจูงใจฝ่ายตรงข้ามให้เชื่อถือ
หรือยินยอมได้ [ที.สี.ฎีกา(อภินว.) 2/425/493]

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 9 หน้า :234 }